เกี่ยวกับภาควิชา

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีนโยบายมุ่งเน้นผลิตวิศวกรโยธาที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพโดยเป็นที่ยอมรับของภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาวิศวกรรมโยธาได้เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ภายใต้ชื่อภาควิชาเทคโนโลยีโครงสร้าง จากนั้นในปี พ.ศ. 2537 ได้เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาวิศวกรรมโยธา

ด้วยศักยภาพและความพร้อมทางด้านบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนการสอนและการทำวิจัย ในปี พ.ศ. 2544 ภาควิชาได้จัดให้มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท และเริ่มจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบันภาควิชามีคณาจารย์ประจำที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ทางวิศวกรรมโยธา ทั้งสิ้น 20 คน

พันธกิจภาควิชา

พันธกิจของภาควิชาวิศวกรรมโยธา มีดังนี้

  • จัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมโยธาที่มีความสามารถเป็นเลิศทางวิชาชีพ
  • ศึกษาและวิจัยด้านวิศวกรรมโยธาที่สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการและแก้ปัญหาทางด้านวิศวกรรมโยธาแก่สังคม รวมถึง
  • ให้บริการงานด้านวิศวกรรมโยธาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและจริยธรรม

การจัดการศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมโยธา

  • ระดับปริญญาตรี
    หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (วศ.บ. วิศวกรรมโยธา)
    เปิดรับผู้ที่ผ่านการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่ผ่านการสอบคัดเลือกโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือตามระเบียบการสอบคัดเลือกของทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และระบบโควต้าเรียนดีจากโรงเรียนมัธยมศึกษา นอกจากนั้นยังมีการรับนักศึกษาสำหรับภาคสมทบพิเศษโดยใช้คะแนนสอบประมวลผลกลาง โดยมีระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีการศึกษา

 

  • ระดับบัณฑิตศึกษา
    หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วศ.ม.) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
    เปิดรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ. โยธา) หรือเทียบเท่าจากสถานศึกษาและหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ/หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
    เปิดรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วศ.ม. โยธา) หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ. โยธา) ที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.50 (เต็ม 4.00) โดยมีแขนงวิชาดังต่อไปนี้
    – วัสดุวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering Materials)
    – วิศวกรรมการก่อสร้างและการบริหาร (Construction Engineering And Management)
    – วิศวกรรมเทคนิคธรณี (Geotechnical Engineering)
    – วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering)
    – วิศวกรรมการขนส่ง (Transportation Engineering)

    หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วศ.ม.) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ภาคพิเศษ (เสาร์-อาทิตย์) แขนงวิชาวิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering)
    เปิดรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ. โยธา) หรือเทียบเท่าจากสถานศึกษาและหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) และ/หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)

    หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการบริหารงานก่อสร้าง (Non-Thesis Program)
    เป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหาร จัดการเรียนการสอนภาคค่ำ เปิดรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตทุกสาขา และสภาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต
    ห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรมโยธา

ห้องปฏิบัติการและสิ่งอำนวยความสะดวก

ภาควิชาวิศวกรรมโยธามีห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ที่มีความพร้อมในการฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะในงานวิศวกรรมโยธา และการศึกษาวิจัยต่างๆ ในงานวิศวกรรมโยธา โดยภาควิชาฯ มีห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ดังต่อไปนี้

  • ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมโครงสร้าง
  • ห้องปฏิบัติการวัสดุวิศวกรรมโยธาและเทคโนโลยีคอนกรีต
  • ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมชลศาสตร์
  • ห้องปฏิบัติการปฐพีกลศาสตร์
  • ห้องปฏิบัติวิศวกรรมขนส่งและสิ่งแวดล้อม
  • ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
  • อุปกรณ์สำหรับวิศวกรรมสำรวจ
  • Plaxis 2D และ 3D สำหรับวิเคราะห์งานทางวิศวกรรมเทคนิคธรณี

ผลงานนักศึกษา

  • รางวัลชนะเลิศ สะพานเหล็กจำลอง การแข่งขันสะพานเหล็กอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2550
  • รางวัลชมเชย การออกแบบส่วนผสมคอนกรีตมวลเบา การแข่งขันคอนกรีตมวลเบาระดับอุดมศึกษา ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2551 และครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2553
  • รางวัลเหรียญทอง การแข่งขันตอบปัญหาทางวิศวกรรมปฐพี ประจำปี พ.ศ. 2557
  • รางวัลเหรียญเงิน การแข่งขันประกวดโครงงานด้านวิศวกรรมปฐพี ประจำปี พ.ศ. 2557